หลังผ่านประสบการณ์พาเพื่อนไปเกณฑ์ทหารเมื่อปีที่แล้ว เตชะเวช ภักดีณรงค์ ผู้หญิงข้ามเพศ ก็เกิดอาการกลัวและกังวลกับสิ่งที่เธอต้องพบเจอในปีต่อไป
เธอไม่แน่ใจจะต้องผ่านการประเมินกี่ขั้นตอนในกระบวนการตรวจเลือกทหารกองเกิน เพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่าเธอไม่สามารถเป็นทหารได้
"ถึงแม้ร่างกายจะเป็นชายแต่จิตใจเราเป็นผู้หญิง...อีกอย่างอนาคตเราก็ยังอีกไกล เราก็เลยยังไม่อยากเข้าไปอยู่ในกรม" เตชะเวช กล่าวหลังจากที่เธอผ่านขั้นตอนการยื่นเอกสารกับเจ้าหน้าที่ทหารจนเสร็จเรียบร้อย
การแต่งกายเป็นหญิง การผ่าตัดดัดแปลงร่างกาย หรือการเข้าไปตามโรงพยาบาลด้านจิตเวชเพื่อขอใบรับรองแพทย์ เป็นหนึ่งในหลาย ๆ ขั้นตอนที่กลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศต้องทำเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิ์ในการยกเว้นการเกณฑ์ทหาร
ขั้นตอนดังกล่าวเป็นสิ่งที่กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศต้องการหรือไม่ และพวกเขาเหล่านั้นต้องผ่านอะไรมาบ้าง บีบีซีไทยคุยกับกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศที่เพิ่งผ่านกระบวนการตรวจเลือกทหารกองเกินในปีนี้
เสริมหน้าอกก่อนมาเกณฑ์ทหาร
ปีที่แล้ว เตชะเวชไปร่วมสังเกตการณ์การเกณฑ์ทหารของเพื่อนที่เป็นหญิงข้ามเพศเหมือนเธอและได้เรียนรู้ว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างก่อนที่จะไปถึงหน่วยเกณฑ์ แต่พอมาถึงปีของเธอ เธอไม่มีเวลาเตรียมเอกสารที่จำเป็นต่อการขอยกเว้นเพราะเธอติดภารกิจที่มหาวิทยาลัยที่เธอเรียนอยู่จนไม่มีเวลาไปดำเนินเรื่อง
พอถึงวันที่เธอได้รับหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร หรือใบ สด.35 เธอก็รู้สึกใจหายและกังวลในทันที เพราะเธอไม่มีใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลจิตเวชเพื่อยืนยันว่าเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด และเธอกลัวว่าจะต้องเข้ากรมทหาร เธอจึงปรึกษากับผู้ปกครองเพื่อขออนุญาตทำหน้าอกตามความตั้งใจ เพื่อจะได้นำใบรับรองการเปลี่ยนแปลงร่างกายมาใช้แทนใบรับรองทางด้านจิตเวช
"ทำหน้าอกมาเพื่อเกณฑ์ทหารเลย ตอนนี้ก็ได้ช่วงเวลาในการทำพอดี และผู้ปกครองก็อนุญาต ก็เลยตัดสินใจทำเลยดีกว่า" เตชะเวชอธิบาย
"ตอนแรกก็กลัวว่าถ้าไม่มีใบรับรองแพทย์มาแล้วจะคุยกับแพทย์ประจำหน่วยเกณฑ์ทหารยากไหม ก็เลยไปทำหน้าอก แต่จริง ๆ ก็อยากทำอยู่แล้ว และตอนนี้ได้จังหวะพอดี ก็เลยทำเลย"
เธอไปถึงหน่วยตรวจเลือกทหารกองเกินเข้าเป็นทหารกองประจำการ ชุดที่ 25 อ.บ้านฉาง จ.ระยอง แต่เช้าตรู่ เพื่อที่จะได้เป็นคิวแรก ๆ ของวัน หลังจากที่เธอลงทะเบียน ยื่นเอกสารทั้งหมดและผ่านการคัดกรองจากแพทย์ประจำหน่วยตรวจเลือกการเป็นทหารกองเกิน ทางประธานคณะกรรมการตรวจเลือกทหารกองเกินก็ออกใบผ่านการเกณฑ์ทหาร หรือที่เรียกว่าใบ สด.43 ให้ และถือว่าเป็นการเสร็จสิ้น
"พอได้ใบ สด. 43 มารู้สึกโล่งใจ เหมือนยกภูเขาออกจากอก เพราะเมื่อก่อนกลัวมากเพราะเรายังศึกษาอยู่ พอเรามีทุกอย่างครบมันก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด" เตชะเวชกล่าว
บุคคล 4 จำพวก
นอกจากชายไทยในวัยถึงเกณฑ์การตรวจคัดเลือกทหารกองเกินที่พร้อมใจกันมานับพัน ที่หน่วยเกณฑ์ทหารก็ยังมีเจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยต่าง ๆ และแพทย์สนามพร้อมให้บริการ พ.อ. มหิธร บุญครอง ผู้บังคับศูนย์การฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 12 ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้าเป็นทหารกองประจำการชุดที่ 25 พาบีบีซีไทยเยี่ยมชมและร่วมสังเกตการณ์ในหน่วยการคัดเลือก
เขาอธิบายว่าทุกคนที่เข้ามาตรวจคัดเลือกจะถูกแบ่งออกเป็นบุคคล 4 จำพวกซึ่งได้แก่
- จำพวกที่หนึ่ง บุคคลที่สมบูรณ์ดี พร้อมเข้ารับราชการ เข้ากองประจำการ
- จำพวกที่สอง บุคคลที่ไม่สมบูรณ์ และมีลักษณะที่เห็นเด่นชัดว่าไม่สมบูรณ์ รวมไปถึงกลุ่มบุคคลที่เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดจะอยู่ในประเภทสองทั้งหมด บุคคลจำพวกสองก็คือบุคคลที่มีการดัดแปลงร่างกายมาแล้วหรือมีใบรับรองแพทย์มายืนยันเท่านั้น
- จำพวกที่สามคือคนที่ป่วยหรือร่างกายไม่สมบูรณ์ และหายไม่ทันภายใน 30 วัน ซึ่งทางคณะกรรมการตรวจเลือกจะให้คนกลุ่มนี้กลับมาใหม่ในปีถัดไป ส่วนกลุ่มบุคคลที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดที่ไม่ได้อยู่จำพวกสองก็คือกลุ่มคนที่ไม่ได้มีใบรับรองแพทย์มาหรือไม่ได้ผ่าตัดจะจัดอยู่ในประเภทนี้เพื่อให้พวกเขาไปขอใบรับรองแพทย์และกลับมาใหม่ในปีถัดไป
- จำพวกที่สี่ก็คือประเภทที่ร่างกายมีความทุพพลภาพ ไม่สามารถ เป็นทหารได้ เช่นมีอาการเจ็บป่วยที่ขัดต่อการเป็นทหารและมีใบรับรองแพทย์ยืนยัน รวมไปถึงกลุ่มคนที่น้ำหนักเกิน โดยคิดจากดัชนีมวลกาย
สำหรับกลุ่มคนที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดและมีใบรับรองแพทย์มา หรือไม่มีใบรับรองแพทย์มาแต่ว่าแปลงสภาพเป็นผู้หญิงชัดเจนต้องจัดอยู่ในบุคคลจำพวกที่สองโดยทันที โดยแพทย์สนามจะเป็นคนลงความเห็น
"ตอนแรกรู้สึกไม่ค่อยดีเท่าไหร่เพราะรู้สึกเหมือนเป็นคนพิการ เพราะแพทย์ประจำหน่วยจัดให้มานั่งรวมกับบุคคลประเภทสองคือคนพิการและกลุ่มคนที่เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด แต่ทางทหารเขาก็คงคิดมาถี่ถ้วนแล้วว่าเราอยู่ในประเภทนี้ ก็โอเคค่ะ" เตชะเวชกล่าว
ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเคารพ
ณรงศักดิ์ บำรุงพงษ์ อายุ 22 ปี พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเคยผ่านขั้นตอนการตรวจเลือกทหารกองเกินมาเมื่อปีที่แล้วและถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มบุคคลประเภทที่สามเนื่องจากเขาไม่มีใบรับรองแพทย์ด้านจิตเวชมาและไม่ได้ดัดแปลงร่างกายมา
ณรงศักดิ์ เป็นคนในกลุ่มหลากหลายทางเพศที่มีอัตลักษณ์ทางเพศตรงกับเพศกำเนิด ด้วยหน้าที่การงานทำให้เขาไม่สามารถดัดแปลงร่างกายได้ เขาจึงต้องมีเอกสารยืนยันเพื่อให้ทางประธานฯ เชื่อว่าเขามีเพศสภาพที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิดจริง
"ปีที่แล้วมาครั้งแรกกังวลมากและไม่รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง กังวลกับเรื่องที่ต้องถอดเสื้อ แต่ถ้าแจ้งให้พี่ทหารและหมอรู้ว่าเราเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดเขาก็ไม่ต้องให้เราถอดเสื้อ" ณรงศักดิ์ อธิบาย
ที่หน่วยเกณฑ์ทหารทุกหน่วยจะมีห้องลับที่เป็นห้องที่มีไว้ในการตรวจพิเศษ สำหรับผู้ที่จะต้องถอดเสื้อผ้า ซึ่งเจ้าหน้าที่แพทย์และผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่มีสิทธิ์เข้าไปตรวจในห้องนั้น ห้องนี้เป็นห้องตรวจโรคธรรมดาเพียงแต่ว่าเป็นห้องลับตาเพื่อไม่ให้เห็น โดยมีกรรมการสัสดีจังหวัดมีหน้าที่คอยกำหนดคนเป็นจำพวกร่วมกับแพทย์
"กองทัพได้คำนึงถึงเกียรติของทุกคน และสิทธิของทุกคน และปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียมโดยที่ผ่านมายังไม่เคยมีปัญหาเลย ทางผู้บังคับบัญชาเน้นย้ำว่าให้เกียรติ และปฏิบัติเหมือนกับบุคคลทั่วไปทุกคน" พ.อ. มหิธร
เกณฑ์ทหารควรเป็นเรื่องความสมัครใจ
ยอดทหารกองเกินเข้าเป็นทหารกองประจำการที่เหล่าทัพต้องการในปีนี้นั้นมีจำนวน 97,324 คน ถึงแม้ว่าจะมีความต้องการน้อยกว่าปี 2562 อยู่ประมาณ 4,500 คน แต่ก็มีคนหลายคนที่ไม่อยากเข้าไปรับใช้ชาติด้วยการเข้าเป็นทหาร โดยเฉพาะในกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ
หลังจากที่ได้รับคำแนะนำด้านเอกสารที่ต้องนำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อขอยกเว้นการตรวจเลือกทหารกองเกินมาเมื่อปีที่แล้ว ณรงศักดิ์ได้ดำเนินการยื่นขอใบรับรองทางจิตเวชเพื่อนำไปยื่นให้กับเจ้าหน้าที่ทหารในการเกณฑ์ทหารของปีนี้
ก่อนหน้านี้ ณรงศักดิ์เดินทางไปโรงพยาบาลศรีธัญญาเพื่อเข้าทดสอบทางจิตเวช เพื่อยืนยันว่าเพศสภาพของเขาไม่ตรงกับเพศกำเนิดจริงๆ และมีการนัดทำประเมินสองรอบก่อนที่จะออกใบรับรองแพทย์ให้
"คิดว่ามันไม่เป็นการยุติธรรมที่เราต้องไปพิสูจน์ตัวเองกับแพทย์ว่าเพศสภาพของเราไม่ตรงกับเพศกำเนิดเพราะท้ายที่สุดแล้วเราไม่ได้เป็นโรคอะไร ทำไมเราถึงต้องไปทำขนาดนั้น" ณรงศักดิ์ ตัดพ้อ
ด้วยความที่จิตใจของเขาไม่ใช่ผู้ชาย ณรงศักดิ์จึงเกิดอาการกลัวที่อาจต้องเข้าไปเป็นทหาร เพราะกลัวการที่ต้องถอดเสื้อผ้าต่อหน้าคนอื่น หรือต้องทำอะไรแบบผู้ชายที่ทำให้เขารู้สึกอึดอัดและอับอาย
"อยากให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารให้เฉพาะคนที่สมัครใจเท่านั้น สมัยนี้ไม่ใช่สมัยก่อนที่ต้องไปออกรบออกตีอะไรกัน และไม่ใช่เฉพาะในกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้นแต่คนอื่นก็ควรได้รับสิทธิ์นี้ เพราะบางคนก็จำเป็นจะต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว แต่ไม่มีโอกาสที่จะได้เข้าทำงาน เพราะยังไม่มีใบรับรองผ่านการเกณฑ์ทหาร" ณรงศักดิ์ อธิบาย
"จริง ๆ แล้วการเกณฑ์ทหารน่าจะอยู่ที่การสมัครใจจะดีกว่า จะมาบังคับแบบนี้ก็ฝืนใจมากจนเกินไป" เตชะเวชเสริม
ความช่วยเหลือจากเพื่อนเพศเดียวกัน
"ม่อยม่อย โมอานา" เป็น ผู้ให้คำปรึกษาเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ เธอบอกบีบีซีไทยให้ใช้เรียกเธอเช่นนี้ เนื่องจากเป็นชื่อที่เธอใช้ในวงการ
ปัจจุบัน ม่อยม่อย เป็น ผู้จัดการมูลนิธิซิสเตอร์ ศูนย์ระยอง องค์กรที่ให้การปรึกษาด้านเอชไอวี รับเรื่องร้องเรียนปัญหาการถูกละเมิดด้านสิทธิมนุษยชน และให้คำปรึกษาการตรวจเลือกทหารกองเกินในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
เธอเล่าถึงประสบการณ์สมัยที่เธอต้องไปเกณฑ์ทหารว่า กลุ่มคนหลากหลายทางเพศจะถูกจัดอยู่ในบุคคลประเภทสี่ซึ่งหมายถึงบุคคลทุพลภาพ โรคจิต หรือวิกลจริต และเธอต้องได้ใบรับรองที่ออกมาทำให้ดูเหมือนมีอาการทางจิตก่อนเพื่อนำไปยื่นกับทางเจ้าหน้าที่ทหารแต่มาถึงปัจจุบันที่มีการออกไปรับรองเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดให้แทน
"ช่วงเวลาของเราที่เราต้องไปเข้ารับการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหาร เราก็รู้สึกว่ากรี๊ดได้ก็จะกรี๊ด ร้องไห้ได้ก็จะร้องไห้ เพราะไม่มีใครช่วยเหลือเลย รู้สึกว่าไม่รู้จะไปพึ่งใครดีรับปรึกษาใครไม่ได้ รู้สึกเครียดกับการเกณฑ์ทหารมากๆ" ม่อยม่อยกล่าว
ในวันนี้เธอผันตัวเองมาเป็นผู้ให้คำปรึกษาเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศที่ต้องผ่านขั้นตอนการเกณฑ์ทหาร เธอจะตระเวนไปยังหน่วยเกณฑ์ทหารต่าง ๆ ทั่วจังหวัดที่รับผิดชอบเพื่อให้คำแนะนำกับคนที่ไม่ได้เตรียมตัวมาและช่วยดำเนินการพาไปขอใบรับรองแพทย์
ใบรับรองเพศสภาพคือใบผ่าน
การเกณฑ์ทหารสำหรับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นมีความท้าทายและก่อให้เกิดความกังวลได้หากไม่มีเอกสารที่ครบถ้วน
ม่อยม่อยลงพื้นที่สังเกตการณ์ในหลาย ๆ หน่วยเกณฑ์ทหารและพบกับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศหลายรูปแบบ เธอกล่าวว่ากลุ่มคนหลากหลายทางเพศที่น่ากังวลน้อยที่สุดคือกลุ่มที่มีอัตลักษณ์ทางเพศชัดเจน เช่น ผมยาว หรือ มีสภาพเป็นผู้หญิงแล้ว
แต่สำหรับกลุ่มคนที่ยังมีเพศสภาพที่ยังไม่ชัดเจนทั้งยังมีผมสั้นอยู่ หรือมีอัตลักษณ์ทางเพศที่ยัง เป็นผู้ชายอยู่ ก็จะลำบากมากกว่ากลุ่มที่อัตลักษณ์ทางเพศชัดเจนกว่าเพราะทางทหารค่อนข้างกลัวว่าจะมีการปลอมแปลงอัตลักษณ์ทางเพศ
"สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือใบรับรองเพศสภาพ เพราะจะทำให้ขั้นตอนง่ายขึ้นมาก" ม่อยม่อยกล่าว
"ปีที่แล้วเราเคยมาสังเกตการณ์และมีน้องที่ไม่ผ่านหลายคน ท่านสัสดีก็แนะนำให้ไปขอใบรับรองแพทย์มาให้ได้แล้วค่อยมาใหม่ปีนี้ เราก็เลยให้ความช่วยเหลือให้ข้อมูลและพาไปที่โรงพยาบาลศรีธัญญา เหมารถตู้ไปด้วยกัน พาน้องไปจนได้ใบรับรองแพทย์มา"
ม่อยม่อยอธิบายว่าถ้าอยากจะให้มั่นใจ การมีใบรับรองแพทย์มาที่หน่วยเกณฑ์ทหารถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
"ไม่ว่าน้องๆ จะมีเพศสภาพเป็นอย่างไรก็ตามทุกคนสามารถไปขอได้หมดเลย ไม่ว่าจะผมสั้นหรือผมยาวขั้นตอนก็เหมือนกันทุกอย่าง เพราะมันอยู่ที่จิตใจของเราไม่ใช่อยู่ที่รูปลักษณ์ภายนอกเลย อย่าไปเครียดหรือกังวลกับขั้นตอนการตรวจเลือกรับเกณฑ์ทหาร แค่เรามีใบรับรองเพศสภาพ ก็พกความมั่นใจ ไปตรวจเลือกทหารได้อย่างไม่ต้องกังวลเลย" เธออธิบาย
แต่ท้ายที่สุด เธอเห็นว่าควรมีการแก้กฎหมายเพื่อไม่ให้คนกลุ่มนี้ ต้องมาเกณฑ์ทหารเลย
"สิ่งที่จะดีมากๆ เลยก็คือการออกกฏหมายให้เปลี่ยนคำนำหน้านามได้ น่าจะช่วยให้คนกลุ่มนี้ไม่ต้องเข้ามาผ่านการเกณฑ์ทหารอีก เราไปทำอย่างอื่นที่มันมากกว่านี้ดีกว่า"
August 08, 2020 at 01:01PM
https://ift.tt/3knBBmv
เกณฑ์ทหาร : กลุ่มคนหลากหลายทางเพศต้องทำอย่างไรกับการได้มาซึ่งสิทธิ์ไม่ต้องเกณฑ์ทหาร - บีบีซีไทย
https://ift.tt/2XPOc7E
Home To Blog
No comments:
Post a Comment