วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2563
จากรายงานตอนที่แล้วที่ ศ.(พิเศษ)พิภพ วีระพงษ์ พาร์ตเนอร์ บริษัท ลอว์อัลลายแอนซ์ จำกัด และคณะได้ให้ความเห็นถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาลักษณะการทำประโยชน์และการประเมินราคาก่อนที่จะเสียภาษี โดยที่เจ้าของที่ดินมีสิทธิคัดค้านการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ท่านได้รับหนังสือ ภดส. 6 จากลักษณะการทำประโยชน์ในที่ดินแล้วนั้น
ในบทความตอนนี้ ศ.(พิเศษ)พิภพ วีระพงษ์ พาร์ตเนอร์ บริษัท ลอว์อัลลายแอนซ์ จำกัด จะมาให้คำแนะนำถึงขั้นตอนการคัดค้านและอุทธรณ์การประเมิน ดังนี้
การคัดค้านและอุทธรณ์การประเมิน
ด้วยความที่กฎหมายภาษีที่ดินฯ เริ่มต้นด้วยการประเมินภาษีโดยเจ้าพนักงานประเมิน (ไม่ใช่ระบบประเมินตนเองดังเช่นภาษีเงินได้) ดังนั้น ภาระภาษีจึงเริ่มต้นเมื่อผู้เสียภาษีได้รับหนังสือแจ้งประเมินภาษีที่ดินฯ (ภดส.6) หากผู้เสียภาษีไม่เห็นด้วยกับการประเมินของเจ้าพนักงานก็จะต้องใช้สิทธิที่เรียกว่า “คัดค้านการประเมิน” ต่อผู้บริหารท้องถิ่น หากผู้บริหารท้องถิ่นมีคำวินิจฉัย “ไม่เห็นชอบกับคำคัดค้านการประเมิน” ของท่าน หมายความว่าท่านแพ้ในชั้นคัดค้านการประเมิน ท่านก็จะมีสิทธิร้องต่อไปในครั้งที่สองเรียกว่า “อุทธรณ์การประเมิน” ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ “ยกคำอุทธรณ์การประเมิน” ของท่าน ท่านจะมีสิทธิร้องครั้งที่สาม คือ ฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลภาษีอากรกลางต่อไป โดยจะอธิบายขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. กระบวนการพิจารณาคำคัดค้านการประเมิน
1.1 ยื่นคำร้องคัดค้านการประเมิน อย่าลืมยื่นคำขอทุเลาการเสียภาษีด้วย
ก. ยื่นคำร้อง ภดส. 10 ต่อผู้บริหารท้องถิ่น
ตามที่ได้เขียนไว้ในตอนที่ 1 แล้วว่าการยื่นคำร้องคัดค้านการประเมินสามารถกระทำได้ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ท่านได้รับหนังสือแจ้งประเมิน โดยวิธีการในการยื่นคำร้องคัดค้านสามารถกระทำได้ทั้งวิธียื่นด้วยตนเองโดยต้องใช้แบบคำร้องคัดค้านการประเมิน หรือ “ภดส. 10” ซึ่งเป็นแบบฟอร์มที่จำเป็น หรือในเขตกรุงเทพฯ อาจใช้วิธียื่น ภดส. 10 ออนไลน์ก็ทำได้เช่นกัน โดยยื่นพร้อมเอกสาร หลักฐานต่างๆ เท่าที่ท่านมีเพื่อสนับสนุนคำร้องคัดค้านของท่าน ต่อเจ้าพนักงาน ณ สำนักงานเขตหรือเทศบาลที่ประเมินภาษีที่ดินฯ แปลงหรือหลังนั้นๆ ของท่าน
ข. การยื่นคำร้องขอทุเลาการชำระภาษี
เนื่องจากการยื่นคำร้องคัดค้านและอุทธรณ์การประเมิน ไม่เป็นการทุเลาการชำระภาษี หมายความว่า ท่านยังมีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินฯ แม้จะยื่นคัดค้านการประเมินแล้วก็ตาม ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่ท่านจะต้องกระทำก็คือการยื่น “คำขอทุเลาการชำระภาษี” ไปพร้อมกับการยื่นคำร้องคัดค้าน มิเช่นนั้นแล้ว ท่านอาจถูกยึดอายัดทรัพย์จนกว่าจะนำเงินมาชำระภาษีได้ ซึ่งการยื่นคำขอทุเลาการชำระภาษีนั้นผู้บริหารท้องถิ่นอาจใช้ดุลพินิจให้ท่านนำหนังสือค้ำประกัน/หลักประกันมาวางด้วยก็ได้ อย่างไรก็ดี ขอให้ท่านสบายใจได้อย่างหนึ่งว่า ในระหว่างที่ท่านได้ยื่นคำร้องคัดค้านหรืออุทธรณ์การประเมินภาษีกฎหมายไม่อนุญาตให้มีการขายทอดตลาดทรัพย์สินของท่านจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งเป็นข้อดีประการหนึ่งของการยื่นคำคัดค้านการประเมิน
1.2 กำหนดเวลาในการพิจารณาคัดค้าน
ผู้บริหารท้องถิ่นจะเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาและวินิจฉัยว่าจะเห็นด้วยกับคำร้องคัดค้านการประเมินภาษีที่ดินฯ ของท่านหรือไม่ โดยมีเวลาในการพิจารณาเพียง 60 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับคำร้องคัดค้านฯ หากพิจารณาไม่ทันกำหนดกฎหมายถือว่าผู้บริหารท้องถิ่น “เห็นชอบ” กับคำร้องของท่าน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแล้วเสร็จจะมีคำวินิจฉัย 2 ได้แนวทาง ดังนี้
- “เห็นชอบ” กับคำคัดค้านการประเมินภาษีฯ ของท่าน ก็จะแจ้งคำสั่งให้ท่านนำเงินมาชำระภาษีภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งฯ ท่านต้องนำเงินไปชำระ
- “ไม่เห็นชอบ” กับคำร้องคัดค้านการประเมินภาษีฯ ของท่าน ก็จะแจ้งให้ท่านทราบเป็นหนังสือเช่นกัน ท่านจะมีสิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อไป
2. การอุทธรณ์การประเมิน
2.1 การยื่นอุทธรณ์การประเมิน
- เมื่อท่านได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งไม่เห็นชอบกับคำร้องคัดค้านการประเมินภาษีฯ ของท่านจากผู้บริหารท้องถิ่นแล้ว ท่านมีเวลาอีก 30 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งฯ
- ในการเขียนอุทธรณ์การประเมินภาษีฯ ขอแนะนำว่าท่านจะต้องอ่านหนังสือแจ้งคำสั่งไม่เห็นชอบฯ ที่ได้รับมาโดยละเอียดว่า เหตุที่ผู้บริหารท้องถิ่นไม่เห็นด้วยกับคำร้องคัดค้านของท่านคืออะไร ท่านจะต้องเขียนเหตุผลในคำอุทธรณ์โต้แย้งเหตุผลของผู้บริหารท้องถิ่นให้ครบทุกประเด็น พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบให้ครบถ้วน โดยอาจต้องเพิ่มเติมพยานหลักฐานบางอย่างเพื่อให้มีน้ำหนักในการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
- กฎหมายกำหนดให้ท่านยื่นอุทธรณ์ต่อผู้บริหารท้องถิ่น โดยผู้บริหารท้องถิ่นจะต้องทำหน้าที่ในการส่งคำอุทธรณ์ของท่านไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อไป
2.2 การพิจารณาอุทธรณ์
- ในการพิจารณาอุทธรณ์ จะมีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์” ในกรุงเทพฯ ปลัดกระทรวงมหาดไทยจะเป็นประธานกรรมการ และอธิบดีกรมต่างๆที่เกี่ยวข้องรวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการ ส่วนต่างจังหวัดจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และกรรมการอีกไม่เกิน 12 คน ทำหน้าที่ในการพิจารณาอุทธรณ์ของท่าน
- คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีเวลาในการพิจารณาอุทธรณณ์ของท่าน 60 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำอุทธรณ์จากผู้บริหารท้องถิ่น โดยสามารถขยายระยะเวลาได้อีก 30 วัน รวมเป็น 90 วัน โดยต้องแจ้งให้ท่านทราบเสียก่อน หากพิจารณาไม่แล้วเสร็จตามกำหนด ท่านสามารถใช้สิทธิฟ้องร้องไปยังศาลได้ทันทีโดยไม่ต้องรอฟังคำวินิจฉัย (แต่ต้องฟ้องภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันครบกำหนด 90 วัน ดังกล่าว)
- เมื่อพิจารณาแล้วเสร็ย คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์อาจมีคำสั่งต่างๆ เช่น สั่งไม่รับอุทธรณ์ ยกอุทธรณ์ เพิกถอนหรือแก้ไขการประเมิน หรือให้ผู้อุทธรณ์ได้รับ การลดหรือยกเว้นภาษีหรือได้คืนภาษี ตามแต่กรณี โดยจะต้องแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไปยังท่านภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันพิจารณาแล้วเสร็จ
- หากท่านไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ สามารถยื่นฟ้องต่อศาลภาษีอากรได้ภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ในกรณีที่ไม่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ภายใน 90 วัน ท่านก็สามารถยื่นฟ้องต่อศาลภายใน 30 วันได้เช่นกัน)
หากไม่ได้รับหนังสือแจ้งประเมินภาษีที่ดินฯ ต้องทำอย่างไร
ในบทความที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวถึงท่านที่ได้รับหนังสือแจ้งประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ภดส.6,7,8) หากไม่เห็นด้วยกับการประเมินจะต้องคัดค้านการประเมินภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับ ภดส. 6,7,8 จึงมีผู้คนถามกันเข้ามามากมายว่า แล้วท่านที่ยังไม่ได้รับ ภดส.6 และ 7หรือ 8 จะทำอย่างไร ต้องไปแสดงตนชำระภาษีภายใน 31 สิงหาคมนี้ด้วยหรือไม่ หากไม่ไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างไร ผู้เขียนขออธิบายดังนี้
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่ได้รับหนังสือแจ้งประเมินจริงหรือไม่
- ,7,8) ให้ท่านภายในเดือนสิงหาคม 2563 (หรือภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และปีถัดๆ ไป) โดยสามารถส่งด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้
- ส่งให้ผู้เสียภาษีโดยตรง (by-hand) หรือ
- ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ณ ภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำการของผู้เสียภาษีนั้น โดยผู้รับหนังสือไม่จำเป้นต้องเป็นผู้เสียภาษีเอง หรือ
- ถ้าไม่สามารถส่งได้ทั้งสองวิธีตาม ก. หรือ ข. เจ้าหน้าที่ก็จะใช้วิธีการ
(1) ปิดหนังสือ ภดส.6 ไว้ ณ ภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำการของผู้เสียภาษี หรือ
(2) ลงประกาศหนังสือพิมพ์ก็ได้
ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ใช้วิธีการปิดประกาศ (1) หรือลงประกาศหนังสือพิมพ์ (2) จะถือว่าผู้เสียภาษีได้รับหนังสือแจ้งประเมินในอีก 7 วันถัดมา
จะเห็นว่ากฎหมายภาษีที่ดินฯ อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถส่ง ภดส.6 ให้ท่านได้หลายช่องทาง แม้ช่องทางอันเป็นที่นิยมส่งกันมากที่สุดคือการส่งทางไปรณีย์ตอบรับเพราะมีหลักฐานการส่งชัดเจน แต่ถ้าเจ้าหน้าที่จะใช้วิธีการอื่นก็ย่อมสามารถทำได้จึงขอให้ท่านทั้งหลายตรวจสอบให้ดีเสียก่อนว่า เจ้าหน้าที่ได้ส่ง ภดส. 6 ให้ท่านแล้วหรือยัง โดยการตรวจสอบที่อยู่ทุกๆ หลังของท่าน (ทั้งที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน และที่อยู่ตามความเป็นจริง) ว่ามีจดหมายส่งถึงท่าน หรือมีการปิดหนังสือหรือไม่รวมถึงสอบถามเจ้าหน้าที่เขตหรือเทศบาลที่อสังหาริมทรัพย์ของท่านตั้งอยู่ด้วย
- เมื่อไม่ได้รับหนังสือแจ้งประเมินฯ ต้องทำอย่างไร
เมื่อได้ตรวจสอบแล้วมีความชัดเจนว่าท่านยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งประเมินจริงๆ ขอให้ท่านสบายใจว่าท่านยังไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีที่ดินฯ เนื่องจากตามหลักการของกฎหมายภาษีที่ดินฯ นั้นเป็นภาษีที่รัฐต้องเป็นฝ่ายประเมินภาษีของท่านเสียก่อนภาระภาษีจึงจะเกิดขึ้น ดังจะเห็นได้จากข้อความในหลายๆ มาตราของพระราชบัญญัติภาษีที่ดินฯ เช่น มาตรา 46, 49, 51 ที่ระบุว่า “ให้ผู้เสียภาษีชำระภาษีตามแบบแจ้งการประเมิน....” กล่าวคือ เมื่อไม่ได้รับแบบแจ้งการประเมินก็ไม่มีหน้าที่ชำระภาษีนั่นเองกรณีจะต่างจากภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามประมวลรัษฎากรที่ใช้หลักการประเมินตนเองซึ่งท่านต้องประเมินตนเองและเสียภาษีตามกำหนดเวลาในกฎหมายเสมอไม่ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ประเมินภาษีของก่อน
- ท่านควรไปแสดงตัวเพื่อชำระภาษีที่ดินฯ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งประเมินฯ ภายใน 31 สิงหาคม 2563 นี้หรือไม่
การที่ท่านไม่ได้รับหนังสือแจ้งประเมินฯ ภดส.6 จากสำนักงานเขตหรือเทศบาล มีความเป็นไปได้หลายกรณี เช่น ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของท่านได้รับยกเว้นภาษี (โดยเจ้าหน้าที่อาจตีความว่าเป็นที่ดินที่ประกอบการเกษตร หรือเป็นบ้านที่ท่านเป็นเจ้าของและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน) หรือเจ้าหน้าที่ยังสำรวจไม่พบ, ตรวจสอบไม่แล้วเสร็จหรือยังไม่ได้ตรวจสอบ จึงไม่ได้ออกหนังสือแจ้งประเมิน (ภดส.6) ส่งมาให้ท่าน กรณีนี้ท่านไม่จำเป็นต้องไปแสดงตัวเพื่อเสียภาษีแต่อย่างใด เพราะไม่มีแบบแจ้งประเมินให้ต้องเสียภาษี
อย่างไรก็ดี หากสำนักงานเขตหรือเทศบาลได้ส่ง ภดส.6 ไปยังท่านแล้ว แต่เกิดความผิดพลาดส่งไปยังที่อยู่เก่าของท่านที่ได้เคยโอนหรือขายที่ดินฯ ไปแล้ว หรือส่งไปยังที่อยู่ใดๆ ที่ไม่ใช่ที่อยู่ปัจจุบันของท่าน แล้วมีบุคคลอื่นลงนามรับเอกสารการประเมินภาษีฯแทนกรณีนี้อาจก่อให้เกิดปัญหา เพราะระบบคอมพิวเตอร์ของเขตหรือเทศบาลจะขึ้นแล้วว่าท่านมีหน้าที่ต้องเสียภาษี เพียงแต่ท่านไม่ได้รับหนังสือและจะต้องเกิดข้อพิพาททางภาษีกับสำนักงานเขตหรือเทศบาลต่อไป ดังนั้น หากท่านมั่นใจว่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของท่านมีแนวโน้มที่จะต้องเสียภาษีที่ดินฯก็ขอให้ไปแสดงตัวกับเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบในระบบคอมพิวเตอร์ว่ามีชื่อท่านเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีที่ดินฯ แล้วหรือยัง เมื่อมีชื่อปรากฏเป็นผู้ต้องเสียภาษีแล้วก็ขอให้ท่านตรวจสอบต่อไปว่า การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินถูกต้องหรือไม่ ซึ่งท่านมีสิทธิคัดค้านการประเมินได้ภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับหนังสือแจ้งประเมินฯ และอาจขอขยายระยะเวลาในการคัดค้านการประเมินต่อผู้บริหารท้องถิ่นได้
August 28, 2020 at 01:04PM
https://ift.tt/3gB0FmV
นักกม. แนะขั้นตอนการคัดค้านและอุทธรณ์การประเมินภาษีที่ดิน - สยามธุรกิจ
https://ift.tt/2XPOc7E
Home To Blog
No comments:
Post a Comment