เปิดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ 6 พรรคฝ่ายค้าน 19 ขั้นตอน ตั้ง ส.ส.ร. 200 คน
ในสัปดาห์นี้ (10-14 สิงหาคม 2563) ทั้ง 6 พรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย ก้าวไกล ประชาชาติ เพื่อชาติ เสรีรวมไทย พลังปวงชนไทย จะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตีประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ร้อนต่อเนื่อง
ต้นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของฝ่ายค้าน 6 พรรค ซุ่มร่างกันมา ตั้งแต่ปี 2562 เดินสายการเมืองร่วมกับภาคประชาชน จัดตั้ง “ภาคีรัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย” เปิดวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560
กระทั่งรัฐบาลได้เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ขึ้นในสภา
แต่ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ทั้งการยุบพรรคอนาคตใหม่ การปรากฏกายของไวรัสร้ายโควิด -19 ทำให้เกมแก้รัฐธรรมนูญต้องสะดุดไป
เมื่อเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกจุดขึ้นมาอีกครั้ง พรรคฝ่ายค้านที่เหลืออยู่ 6 พรรค ก็นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับเดิมกลับมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง และจะยื่นให้กับประธานสภาผู้แทนราษฎรพร้อมลายชื่อ ส.ส.ฝ่ายค้าน มากกว่า 100 ชีวิต
ใน “พิมพ์เขียว” ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน ไล่ตั้งแต่การเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรคือ 50 คน หรือ จาก ส.ส.และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ทั้ง 2 สภา คือ 75 คน
แก้ไขจำนวนเสียง ส.ว.ในการโหวตชั้น “รับหลักการ” ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่บัญญัติในมาตรา 256 ว่า ต้องได้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 (84 เสียง) ออกไป โดยให้ใช้ “เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา” แทน
ขณะที่การเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใน วาระที่ 3 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 กำหนดไว้ว่า “ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิก มิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วย ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า หนึ่งในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา”
แก้ไขเป็น “ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญ มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา” หรือ 375 เสียง
แปลว่าไม่จำเป็นต้องได้รับการเห็นชอบจากทุกพรรคการเมือง รวมถึงไม่ต้องใช้เสียง ส.ว.84 เสียงในการร่วมลงมติ
สำหรับ (ร่าง) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช….มีกระบวนการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) นั้น ใน “พิมพ์เขียว” ของฝ่ายค้าน ถอดออกมาได้ 19 ขั้นตอน ดังนี้
- ให้มี ส.ส.ร. 200 คนทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่
- ให้ กกต.จัดให้มีการเลือก ส.ส.ร.ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่มีเหตุแห่งการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ
- กำหนดวันเลือกตั้งให้เป็นวันเดียวทั่วราชอาณาจักร
- ให้ กกต.แนะนำตัวผู้สมัครอย่าง “เท่าเทียมกัน”
- การลงคะแนนให้ลงคะแนนโดยตรงและลับ ให้มีผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งได้ตามจำนวน ส.ส.ร.พึงมีในจังหวัดนั้น และจะลงคะแนนให้ผู้สมัครคนใด หรือไม่ลงคะแนนให้ก็ได้
- ส.ส.ร.ให้มาจากเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จำนวน 200 คน โดยให้คำนวนจำนวน ส.ส.ร.ที่แต่ละจังหวัด “พึงมี” ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ส.ส.ร.เฉลี่ยด้วยจำนวน ส.ส.ร. 200 คน จำนวนที่ได้รับให้ถือว่าเป็นจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน
- จังหวัดไหนที่ราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน ให้มี ส.ส.ร.ในจังหวัดนั้นได้ 1 คน
- จังหวัดไหนที่ราษฎรเกินจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน ให้มี ส.ส.ร.ในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีก 1 คน ทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน
- ถ้าจำนวน ส.ส.ร.ยังไม่ครบ 200 คน จังหวัดไหนที่มีเศษเหลือจาการคำนวณมากที่สุด ให้จังหวัดนั้นมี ส.ส.ร.เพิ่มขึ้นอีก 1 คน และให้เพิ่ม ส.ส.ร.ด้วยวิธีการเดียวกันแก่จังหวัดที่มีเศษเหลือลำดับรองลงมา จนครบจำนวน 200 คน
- ในการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง
- ให้ ส.ส.ร.ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ 1 คณะ จำนวน 29 คน ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูยตามแนวทางท่ ส.ส.ร.กำหนด ประกอบด้วย ส.ส.ร.15 คน โดยคำนึงถึงภูมิภาคต่างๆ อย่างเป็นธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านสาขานิติศาสตร์ 5 คน ผู้เชี่ยวชาญรัฐศาสตร์ 5 คน ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดินและการร่างรัฐธรรมนูญ 4 คน
- ส.ส.ร.ต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูให้เสร็จภายใน 240 วัน นับแต่ที่มีการประชุม ส.ส.ร.ครั้งแรก ซึ่งต้องจัดไม่ช้ากว่า 30 วัน นับแต่ กกต.รับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ร.
- การยุบสภา หรือ สภาครบวาระไม่เป็นเหตุกระทบกระเทือนการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ร.
- หลังจาก ส.ส.ร.ทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วให้เสนอต่อประธานรัฐสภา และให้ส่งต่อไปยัง กกต.ภายใน 7 วัน นับแต่ที่รัฐสภาได้รับร่างรัฐธรรมนูญจาก ส.ส.ร.
- ให้ กกต.กำหนดวันลงประชามติไม่เกิน 60 วัน แต่ไม่น้อยกว่า 45 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐะรรมนูญจากสภา
- ให้ กกต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเผยแพร่เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญผ่านสื่อมวลชน เปิดเวทีแสดงความคิดเห็นและสื่ออิเล็ทรอนิกส์ทุกประเภท
- เมื่อออกเสียงประชามติเสร็จสิ้นแล้ว ให้ กกต.ประกาศผลการออกเสียงให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน หากผลประชามติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ หากไม่เห็นชอบให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไป
- หากร่างรัฐธรรมนูญตกไป คณะรัฐมนตรี หรือ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.และ ส.ว.มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา มีสิทธิเสนอญัตติต่อรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภามีมติ “จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้อีกได้” การออกเสียงลงคะแนนจะต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดของ 2 สภา
- บุคคลที่เคยเป็น ส.ส.ร.จะเป็น ส.ส.ร.อีกไม่ได้
สำหรับสเป๊กของ ส.ส.ร.ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน มีคุณสมบัติหลัก ๆ อยู่ 3 ข้อ ดังนี้
- คุณสมบัติต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี มีชื่อในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่จะลงรับสมัครติดต่อไม่น้อยกว่ 5 ปี เคยศึกษาหรือไอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีการศึกษา หรือรับราชการ ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ หรือ เคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 5 ปี
- ไม่เคยดำรงตำแหน่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ (สปช.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ
- ต้องไม่เป็นข้าราชการการเมือง ไม่เป็น ส.ส. ส.ว.หรือ รัฐมนตรี
คุณสมบัติทั้ง 3 ข้อนี้ ขีดกรอบ-กีดกันบุคคลจากเครือข่ายรัฐประหาร จากแม่น้ำ 5 สาย ออกจากวงจรแก้ไขและร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่
August 12, 2020 at 10:00AM
https://ift.tt/30Nfpdv
เปิดโมเดลแก้รัฐธรรมนูญ 6 พรรคฝ่ายค้าน 19 ขั้นตอน ตั้ง ส.ส.ร. 200 คน - ประชาชาติธุรกิจ
https://ift.tt/2XPOc7E
Home To Blog
No comments:
Post a Comment