พาณิชย์ เปิด 12 ขั้นตอนเจรจา CPTPP เผยขณะนี้ไทยอยู่แค่ขั้นตอน 3.5 รอหลังกมธ.วิสามัญให้ความเห็นชอบยังต้องผ่าน ครม.อีกชั้น ก่อนเข้าร่วม ตามเดตไลน์ 5 ส.ค.63
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยขั้นตอนการเข้าร่วมการเจรจาความตกลง CPTPP ว่าจะมีทั้งหมด 12 ขั้นตอน โดยจนถึงขณะนี้ไทยอยู่ในขั้นตอนที่ 3 กำลังจะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 4 เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาว่าจะให้ไทยไปเจรจาเข้าร่วมหรือไม่หรือเทียบเท่าขั้นตอนที่ 3.5 เท่านั้น
ทั้งนี้ ไทยได้ผ่านขั้นตอนที่ 1. ศึกษาผลประโยชน์ ผลกระทบของความตกลง CPTPP ขั้นตอนที่ 2.รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน และขั้นตอนที่ 3.รวบรวมความเห็นและผลการศึกษา ไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดปัญหาคัดค้านเกิดขึ้นก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการเข้าร่วมความตกลง CPTPP เพิ่มเข้ามา ซึ่งหากคณะกรรมาธิการวิสามัญสรุปแล้วจากนั้นยังจะต้องนำเสนอผลการพิจารณาให้สภาผู้แทนราษฎร แล้วจึงจะเสนอ ครม. พิจารณาอีกครั้ง
หาก ครม. มีมติให้ความเห็นชอบ ไทยจึงจะเข้าขั้นตอนที่ 5 ยื่นหนังสือต่อนิวซีแลนด์ ในฐานะประเทศผู้รักษาความตกลงเพื่อขอเจรจาเข้าร่วม และขั้นตอนที่ 6 คณะกรรมาธิการสมาชิก CPTPP หรือ CPTPP Commission ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกเดิม 11 ประเทศ จะพิจารณาและเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงาน CPTPP เพื่อเจรจากับไทย
สำหรับการพิจารณาของ CPTPP Commission โดยปกติจะประชุมกันปีละ 1 ครั้ง โดยปี 2563 จะจัดประชุมในวันที่ 5 ส.ค.2563 ซึ่งในปีนี้นอกจากไทยกมีความเป็นไปได้ว่าจะมีอังกฤษ จีน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย มาต่อคิวขอเจรจาด้วย อย่างไรก็ตาม หากไทยสรุปยื่นไม่ทันต้องรอปี 2564
ขั้นตอนที่ 7 เป็นขั้นตอนการเจรจา ซึ่งไทยจะมีคณะเจรจาที่ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เข้าไปเจรจาข้อผูกพันและต่อรองขอข้อยกเว้นและความยืดหยุ่น รวมถึงระยะเวลาปรับตัวที่เหมาะสม
ขั้นตอนที่ 8 คณะทำงาน CPTPP เสนอคณะกรรมาธิการสมาชิก CPTPP เห็นชอบผลการเจรจา
ขั้นตอนที่ 9 เสนอผลการเจรจาต่อ ครม. ถ้า ครม. เห็นชอบจะเข้าสู่
ขั้นตอนที่ 10 เสนอผลการเจรจาต่อรัฐสภา ถ้ารัฐสภาเห็นชอบจะไปสู่ ขั้นตอนที่ 11 ให้สัตยาบันความตกลง CPTPP และสุดท้ายขั้นตอนที่ 12 เข้าเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP โดยสมบูรณ์
ในระหว่างการเจรจาจะยังเปิดให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วม และเสนอแนะความคิดเห็น เพื่อประกอบท่าทีในการเจรจาได้ และหากเห็นว่าเมื่อเจรจาไปแล้ว ไทยได้ไม่คุ้มเสีย ก็ไม่ต้องเข้าร่วมความตกลง CPTPP ขึ้นอยู่กับระดับนโยบายที่จะตัดสินใจอย่างใด
นอกจากนี้ หากไทยต้องการถอนตัว ทาง CPTPP มีข้อกำหนดในความตกลงสรุปว่า รัฐภาคีอาจถอนตัวจากข้อตกลงฉบับนี้ โดยการแจ้งความประสงค์ถอนตัวเป็นลายลักษณ์อักษรต่อผู้ดูแลข้อตกลง พร้อมกันนั้นรัฐภาคีที่ประสงค์จะถอนตัวต้องแจ้งให้รัฐภาคีอื่นทราบ ผ่านช่องทางการติดต่อทั้งหมดที่กำหนดไว้
การถอนตัวจะมีผลภายใน 6 เดือน หลังจากที่รัฐภาคีแจ้งความประสงค์เป็นลายลักษณ์อักษรต่อผู้ดูแลข้อตกลงตามที่ระบุในวรรคหนึ่ง เว้นแต่รัฐภาคีอื่นจะตกลงกรอบเวลาที่ต่างไปจากนี้ และหากมีรัฐภาคีถอนตัวจากข้อตกลงแล้ว ข้อตกลงฉบับนี้ยังคงมีผลบังคับใช้กับรัฐภาคีที่เหลืออยู่
June 17, 2020 at 11:27AM
https://ift.tt/2N7ablg
เปิด 12 ขั้นตอนร่วมเจรจา CPTPP ที่ไทยต้องผ่าน ตอนนี้ไทยอยู่ขั้น 3.5 เท่านั้น - ประชาชาติธุรกิจ
https://ift.tt/2XPOc7E
Home To Blog
No comments:
Post a Comment